วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ในอนาคต พลโลก ต้องการความรู้ด้านชีววิทยาด้านใดมากที่สุด เพราะเหตุใด

ในอนาคต พลโลก ต้องการความรู้ด้านชีววิทยาด้านใดมากที่สุด เพราะเหตุใด

ความรู้ด้านชีววิทยาทุกด้านมีความสำคัญต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเพื่อการดำรงชีวิต แต่ที่สำคัญที่สุดก็จะเป็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะจะครอบคลุมถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์ พืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนแต่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่แตกต่างแปรผันกันออกไปมากมาย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่น อันเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนและหลากหลายในบริเวณต่างๆ ของโลก ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

จำแนกความหลากหลายทางชีวภาพออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1. ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
ในโลกเรามีสิ่งมีชีวิตอยู่มากมายหลายล้านชนิด แต่มีเพียงไม่ถึงร้อยละ .01 ที่เรารู้จัก ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่และด้อยในความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ร่วมโลก ป่าชื้นเขตร้อนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์และเอื้ออำนวยให้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากมาย เสมือนเป็นศูนย์กลางแห่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สมควรได้รับความสนใจดูแลรักษาสภาพไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศและของโลก แต่คงมีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยในป่าชื้นเขตร้อนที่ถูกทำลายสูญหายไปจากโลกนี้อย่างไม่มีวันกลับด้วยน้ำมือมนุษย์ จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ทั้งๆ ที่สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นอาจมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล หากว่ามนุษย์จะได้รู้จักและศึกษาหาความรู้เสียก่อน
2. ความหลากหลายของระบบนิเวศ

ระบบนิเวศประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิดและรูปแบบต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ จุลินทรีย์ที่อยู่รวมกันบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมรอบๆ ตัวได้ การปรับตัว เปลี่ยนแปลงบางอย่างของสิ่งมีชีวิตอาจเกิดขึ้นภายในหนึ่งชั่วอายุ หรือยาวนานหลายชั่วอายุ โดยผ่านการคัดเลือกตามธรรมชาติ ตามกระบวนการวิวัฒนาการ คุณสมบัติ และความสามารถของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตและสภาวะแวดล้อมต่างก็มีบทบาทร่วมกัน และมีปฏิกริยาต่อกันและกันอย่างซับซ้อนในระบบนิเวศที่สมดุล โครงสร้างและคุณสมบัติของระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ รวมทั้งมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล เมื่อความเจริญและอารยธรรมของมนุษย์ได้มาถึงจุดสุดยอดและเริ่มเสื่อมลงเพราะมนุษย์เริ่มทำลายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ที่เคยช่วยเหลือสนับสนุนตนเองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือการแสวงหาความสุขและความบันเทิงบนความทุกข์ยากของสิ่งมีชีวิตอื่น จนทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงของสรรพสิ่งทั้งมวล
การที่สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ถูกทำลายสูญหายไปจากโลก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งให้อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่เหลืออยู่เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ อันเนื่องมาจากการเสียดุลของระบบนิเวศนั้นเอง อัตราการสูญพันธุ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละระบบนิเวศ จะมีทางเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่ที่มนุษย์จะนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุง หาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมาทดแทนสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไป ทั้งนี้เพราะการสูญเสียแหล่งสะสมความแปรผันทางพันธุกรรม อันถือว่าเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าของประชากรสิ่งมีชีวิตนั้น จะเป้ฯการส่งเสริมให้มีการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศนั้นๆ มากขึ้น
3. ความหลากหลายของพันธุกรรม

กระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ องค์ประกอบทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นกับสภาวะแวดล้อม ความหลากหลายของพันธุกรรมเป็นรากฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพื่อเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงศัตรู การต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ความหลากหลายของพันธุกรรมภายในประชากรที่อาศัยอยู่ตามแหล่งต่างๆ ของสปีชีส์หนึ่ง ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประชากรสปีชีส์นั้น ให้สามารถวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่างๆ กัน ได้อย่างเหมาะสมในระยะยาวอีกด้วย
ผลกระทบที่เด่นชัดที่สุดของประชากรธรรมชาติที่ขาดแคลนความหลากหลายของพันธุกรรม คือ การนำไปสู่ภาวะโฮโมไซโกซิตี้ ( ภาวะพันธุ์แท้ คือ ประชากรมีการผสมตัวเองมากขึ้น ก่อให้เกิดพันธ์แท้ ซึ่งอาจมียีนส์ที่เป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของประชากร ) นอกจากนั้นประชากรที่ขาดความผันแปรทางพันธุกรรม ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดประสิทธิภาพของการอยู่รอด และความสมบูรณ์ในการสืบพันธุ์ด้วย ผลกระทบต่างๆ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภาวะความกดดันของการผสมภายในสายพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียความยืดหยุ่นทางวิวัฒนาการอย่างแน่นอน
การคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์พืชหรือสัตว์เพื่อการเกษตรกรรม จะทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรม อันอาจก่อให้เกิดผลร้ายตามมา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์ในความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคที่เกิดจากธรรมชาตินั่นเอง
4. ความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืช

ความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืช หมายถึง พืชนานาชนิดที่ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยมีความหลากหลายทั้งระบบนิเวศ และ/หรือถิ่นที่พืชขึ้นอยู่ ได้แก่ สภาพป่าชนิดต่างๆ หรือระบบนิเวศ ความหลากหลายของชนิดพรรณ ได้แก่ จำนวนชนิดพรรณพืชที่มีอยู่แต่ละแหล่ง และความหลากหลายทางพันธุกรรม ได้แก่ ความแตกต่างทางสายพันธุ์ของพืชในแต่ละชนิด
ทรัพยากรพันธุ์พืช คือ แหล่งปัจจัยสี่ที่สำคัญของมวลมนุษยชาติทั่วโลก มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยพืชไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม เพื่อใช้เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ดังนั้น ทรัพยากรพันธุ์พืชจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าที่ใดมีความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืชมากก็จะมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์มากเช่นกัน การรักษาสายพันธุ์ของทรัพยากรพันธุ์พืชสามารถกระทำได้หลายวิธี และวิธีที่ดีที่สุด คือ การศึกษาถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของป่าแต่ละแห่ง และประกาศให้ป่านั้นเป็นเขตหรือพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์พืชในถิ่นเดิม และห้องกันรักษาอย่างเข้มงวด ในกรณีจำเป็นหรือในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงล่อแหลมต่อการถูกทำลายพันธุกรรมที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อาจมีการเคลื่อนย้ายสายพันธุ์รวมของพืชที่สำคัญแต่ละชนิดในพื้นที่นั้น โดยกระจายการสุ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ทั่วพื้นที่มากที่สุด นำมาคละเคล้ากันแล้วนำไปปลูกในถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับสภาพเดิม เป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์นอกถิ่นเดิม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น